เบสท์ ณัฐดนัย วงศ์สถิตสถาพร
การศึกษา
National Taiwan Normal University (NTNU), Department of Teaching Chinese as a Second Language
การทำงาน
Thailand Trade and Economic Office (TTEO) : เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในไต้หวัน คอยแนะนำผู้ประกอบการไทย และคนที่สนใจทำธุรกิจในไต้หวัน
B STUDIO PRODUCTION : บริษัทออร์แกไนเซอร์ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยตัวเอง มีหน้าที่จัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้งให้กับศิลปินไทยที่มาไต้หวัน
แรงบันดาลใจที่เลือกมาเรียนที่ไต้หวัน
ย้ายมาศึกษาต่อจากประเทศไทยไปยังไต้หวัน
ก่อนที่จะมาเรียนที่ไต้หวัน พี่เรียนอยู่คณะ Business Chinese มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) จนถึงปี2 เราก็เริ่มชื่นชอบไต้หวัน และอยากจะมาใช้ชีวิตที่ไต้หวันมากกว่า เราเลยเลือกที่จะพักจากเอแบค และมาเรียนภาษาจีนที่ศูนย์ภาษาจีนของ NTNU เพื่อรอเวลา ภายหลังก็เลือกเข้าคณะ Teaching Chinese as a Second Language ของ NTNU เพราะเราคิดว่าทักษะอื่น ๆ เราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ทักษะที่สำคัญที่สุดคือภาษาจีน เพราะภาษาจีนสามารถนำไปต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้ ถ้าจะทำงานในไต้หวันแต่ไม่ได้ภาษาจีน มันจะยากมาก มีเพื่อนพี่หลายคนที่เรียนจบแล้วแต่หางานไม่ได้จึงต้องกลับไทย เพราะเขาไม่ได้ภาษาจีน ดังนั้นภาษาจีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตและทำงานในไต้หวัน ถึงแม้พี่จะเพิ่งเริ่มเรียนจีนตอนม.6 แต่พี่สนใจในการใช้ภาษาจีนมาก และพยายามฝึกพูดคุยกับคนไต้หวันตลอด เลยเป็นค่อนข้างเร็ว ตอนเรียนอยู่เอแบค ถึงจีนเราจะเก็บเอทุกตัว แต่พอมาไต้หวัน ก็รู้สึกว่าจีนที่เคยเรียนมาจากที่ไทยมันง่ายเกินไปมาก และที่ไทยไม่ได้สอนภาษาจีนที่คนท้องที่ใช้กันในชีวิตจริง มันเลยต่างกันค่อนข้างเยอะ จึงคิดว่าคิดถูกมาก ๆ ที่มาเรียนไต้หวัน แล้วก็คิดถูกที่เรียนคณะนี้
จบจากคณะ Teaching Chinese as a Second Language จะต้องเป็นครูเท่านั้นไหม
คนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกคณะ เพราะจากที่เรียนมา เพื่อนในห้องประมาณ 50 คน คนที่ยกมือบอกว่าอยากจะเป็นอาจารย์มีไม่ถึงครึ่ง คนกลับไปเป็นอาจารย์ก็มี แต่คนที่เป็นอย่างอื่น เช่น นักแปลข่าวสาร ไกด์ อะไรอย่างนี้ก็มี มันมีหลายอย่างที่สามารถทำได้ อยากจะบอกว่าทักษะภาษาสำคัญก็จริง แต่มีแค่ทักษะภาษาอย่างเดียวมันไม่พอในโลกของการทำงาน เราจะต้องเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้บอกว่าให้ลงคอร์สของมหาลัยอะไรอย่างนั้นนะ ทักษะเหล่านี้เราอาจจะเรียนรู้ได้จากพวกกิจกรรมหรือการฝึกงานแบบนี้ก็ได้
ชีวิตการเรียนในไต้หวัน
คณะ Teaching Chinese as a Second Language เรียนอะไร
สมัยที่พี่เรียน คณะนี้หลัก ๆ คือสอนภาษาจีน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือสำหรับนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเล เช่นคนมาเลเซีย สิงคโปร์ กลุ่มนี้จะเรียน Applied Chinese เรียนเพื่อที่จะกลับไปสอนภาษาจีนให้คนต่างชาติ กลุ่มของพี่คือ Chinese Language and Culture จะมีทั้งคอร์สเกี่ยวกับภาษา และคอร์สเกี่ยวกับวัฒนธรรมให้เราได้เลือกลง ทั้งพู่กันจีน วัฒนธรรมอาหารจีน การใช้ภาษาจีนในเชิงต่าง ๆ เช่น เชิงกฎหมาย จีนเพื่อการโฆษณา เป็นต้น มีหลายวิชาที่ทำให้เราสามารถนำทักษะไปปรับใช้ในด้านต่าง ๆ ได้เยอะ คณะนี้รับเฉพาะคนต่างชาติทั้งหมด 50 คน แบ่งเป็น 3 ห้อง ห้อง A จะได้เรียนหนังสือที่เด็กม.ต้นไต้หวันเรียน ห้อง B กับห้อง C จะเรียนหนังสือที่ใช้สอนชาวต่างชาติโดยเฉพาะ และปัจจุบันชื่อคณะก็ไม่ได้มีคำว่า ‘Teaching’ แล้ว เปลี่ยนเป็น ‘Chinese as a Second Language’ คือเรียนภาษาจีนในฐานะภาษาที่สอง ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อการสอนเท่านั้น ซึ่งสองสามปีก่อนก็มีเพิ่มห้อง D สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเข้ามาด้วย
เรียนร่วมกับเด็กไต้หวันยากไหม
วิชาที่เรียนร่วมกับคนไต้หวันจะเป็นพวก general course แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าวิชาพวกนี้ไม่ค่อยเหมาะกับคนต่างชาติเท่าไหร่ เช่นบางวิชาที่พี่เคยเรียนมา เขายก case study ที่เกิดขึ้นในไต้หวัน ซึ่งคนต่างชาติไม่เคยรู้มาก่อน มันจึงยากสำหรับเรามาก และบางวิชาเราจะต้องอ่านงานของนักเรียนทั้งหมด 7-8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเขียนยาวแบบกระดาษโปสเตอร์ แล้วเราต้องเขียนสรุปออกมา ถึงเราจะได้ภาษาจีน แต่เราไม่มีทางที่จะเข้าใจเนื้อหานั้นได้ในเวลาที่จำกัด แล้วนำมาเขียนสรุปภายในระยะเวลาที่เท่ากันกับเด็กไต้หวัน มันทำให้เราเสียเปรียบ แต่ระยะหลังม.ก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้นักเรียนต่างชาติเรียนได้ง่ายขึ้น นับว่าปัจจุบันมีความแตกต่างไปพอสมควร
กิจกรรมนอกห้องเรียนที่ได้ทำ
พี่เป็นคนชอบแสดง ชอบร้องเพลงบนเวทีมาตั้งแต่สมัยเรียนม.ต้นม.ปลาย พอศูนย์ภาษาจีนของ NTNU มีจัดงานคริสมาสต์ พี่เลยขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีกับเพื่อนต่างชาติอีกสามคน เป็นการร้องเพลงหลายภาษาในเพลงเดียว ทางมหาลัยชอบโชว์ครั้งนั้น ก็เลยเชิญไปโชว์งาน international ที่จะจัดในมหาลัยอีกที เราเลยดีไซน์โชว์ใหม่ เป็นการผสานวัฒนธรรม ผนวกเอกลักษณ์ทางเพลงของแต่ละชาติไว้รวมกันในโชว์ชุดเดียว หลังจากโชว์นี้ ทางม.NTU เห็นก็ชอบ เลยเชิญไปโชว์ที่ NTU เราก็เริ่มจัดเต็มมากขึ้นในเรื่องคอสตูม มีใส่ชุดประจำชาติขึ้นแสดงด้วย สมัยเรียนที่ไทยมีคนคอยดีไซน์โชว์ให้เรา แต่พอมาไต้หวัน แสดงให้กับทางมหาลัยแต่ละครั้งก็เริ่มได้ดีไซน์โชว์เอง แล้วก็ได้ใช้ทักษะพวกนี้ในการดีไซน์โชว์ให้ศิลปินด้วย นับว่าเป็นทักษะที่นำมาต่อยอดในการทำงานได้จริง ๆ
สิ่งที่พี่ชอบและไม่ชอบในไต้หวัน
ตอนเรามาเที่ยวไต้หวัน เราชอบอาหารไต้หวันมาก เสี่ยวหลงเปาอะไรแบบนี้ แต่พอได้มาอยู่จริง ๆ เราไม่รู้เลยว่าจะกินอะไร เพราะเราไม่ชินกับอาหารไต้หวัน ก็เลยกินอาหารในร้านสะดวกซื้อบ่อยมาก ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่า ถ้าไปกินอาหารไทยได้ก็ไป ส่วนที่ชอบก็คือคนไต้หวัน เรารู้สึกว่าคนไต้หวันเป็นมิตรมาก แล้วก็ชอบที่บ้านเมืองเขาเป็นระเบียบ ชอบความเฟรนลี่ที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทั้งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สมรสเท่าเทียมถูกกฎหมาย เราเคยเห็นป้ายรถเมล์แถวบ้านมีข้อความปลูกฝังเด็กเรื่องความเคารพกลุ่มคนที่หลากหลาย อะไรแบบนี้ คือเขาให้ความสำคัญกับความเคารพที่ไม่ใช่การไหว้ และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เราก็ไม่เคยโดนคนไต้หวันดูถูกเพราะเป็นต่างชาติเลย เขามองว่าทุกคนเท่ากันหมด
ประสบการณ์การฝึกงานในไต้หวัน
จากการที่เราได้แสดงบนเวทีที่ NTU คนของ Line TV ก็เห็นว่าเรามีความกล้าที่จะแสดงออกบนเวที และได้ภาษาจีนด้วย เลยติดต่อให้เราไปเป็นล่ามบนเวที เรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดจากงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง ที่ผ่านมาเราไม่เคยหางานด้วยตัวเองเลย มีแต่งานเข้ามาหา เรียกได้ว่าเป็นความโชคดี เพราะเราเคยแสดงบนเวทีมาเยอะ คนรู้ว่าเราทำอะไรได้ เลยย้ำกับน้อง ๆ เสมอว่า ถ้าใครยื่นโอกาสอะไรมาให้รับไว้ ให้โอกาสตัวเองได้ไปทำ แล้วมันจะเกิดการต่อยอดเอง
พี่เริ่มฝึกงานตั้งแต่ปี1 พอมีคนยื่นโอกาสให้เราก็รับหมด บางงานก็แค่ไปช่วยเขาเฉย ๆ ไม่ได้รับงานจริงจัง มีเป็นแบบถ่ายเสื้อผ้าให้เพื่อน ให้เสียงพากย์ เป็นวิทยากรแบ่งปันวัฒนธรรมกีฬาไทยให้กับเด็ก ๆ เป็นผู้ช่วยสอนให้ครูสอนภาษาไทย แล้วก็มีสอนภาษาไทยให้เพื่อนคนไต้หวัน อะไรที่เราคิดว่าทำได้เราก็ลองทำหมด พี่ได้เริ่มทำงานล่ามตอนปี2 งานแรกคืองานแปลให้ศิลปินบนเวที เป็นงานแฟนมีตติ้งของโอมสิงโตในไทเป และเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับ GMM TV ด้วย เป็นงานแรกที่ทำแล้วรู้สึกโอเคและชื่นชอบ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเคยทำมา แล้วหลังจากนั้นก็มีเป็นล่ามงานสัมมนาเกี่ยวกับซีรีส์ แต่งานนี้ไม่ได้รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ เพราะไปจริงเขาไม่ได้พูดแต่เรื่องซีรีส์ แต่มันมีเรื่องการตลาดด้วย ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างยาก แต่เราก็รู้สึกว่าเราทำดีที่สุดแล้วในฐานะเด็กปี2 ถึงจะรู้สึกเฟล แต่สุดท้ายก็พยายามก้าวข้ามผ่านมา หลังจากนี้ก็มีพากย์โฆษณาของ Sony PlayStation มีพากย์เสียงตัวละครในซีรีส์ไต้หวัน แรกเริ่มงานพากย์ก็มาจากอาจารย์ที่คณะส่งชื่อเราไปแนะนำให้กับบริษัทที่มาติดต่ออาจารย์ สาเหตุมาจากวิชาภาษาจีนในคณะมีงานให้อัดเสียง แล้วเราทำเต็มที่มาก เราไม่ได้ใช้แค่โทรศัพท์อัดเสียงธรรมดา เรามีอุปกรณ์เป็นไมค์อัดเสียงจริงจัง เราใช้เงินที่ได้จากการทำงานมาต่อยอดกับสิ่งของพวกนี้ เราอัดเสียงแบบจริงจัง ตัดต่อจนดูสมจริง อาจารย์ได้ฟังก็ประทับใจ พอมีงานพากย์เสียงเข้ามาเขาก็เลือกที่จะให้โอกาสเรา
นอกจากนี้ ช่วงปี1 ปี2 เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไต้หวันประสบความสำเร็จด้วย ช่วงนั้นที่ไทยมีชุมนุมทางการเมือง ไต้หวันก็มี Taiwan Alliance for Thai Democracy (TATD) เราก็ช่วยในส่วนของการทำสื่อและมีเดีย เราทำให้แคมเปญนี้น่าสนใจและเป็นที่รู้จัก โดยการทำแผนที่ขึ้นมา ปักหมุดไปตามที่ต่าง ๆ เราคิดว่าพอคนอื่นเขาเห็น เขาก็จะอยากมาร่วมด้วย หลังจากนั้นแคมเปญนี้เลยไม่ได้มีแค่ในไต้หวัน แต่มีทั่วโลก นี่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่อง marketing ปัจจุบันนี้เราเลยทำได้ทุกอย่างเลย
ชีวิตการทำงานในไต้หวันหลังจากเรียนจบป.ตรี
เป็นคนไทย หางานที่ไต้หวันยากไหม
หลังเรียนจบเป็นช่วงโควิดพอดี จึงหางานยากมาก ตอนจบใหม่เราก็หางานที่ต้องใช้ภาษาไทย เพราะคิดว่าเพิ่งจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ถ้าไม่หางานที่ใช้ภาษาไทยมันน่าจะยาก งานแรกที่ทำหลังเรียนจบคืองานตอบลูกค้าบริษัทเกม ซึ่งเจอมาจากแอปหางานไต้หวัน 104 แต่เราก็ไม่ได้ชอบงานนี้ เพราะเป็นงานที่แค่มีคนถามคำถามเราก็ตอบไป ไม่ได้ทำให้เราเกิดการพัฒนาเลย เราทำอยู่แค่สองเดือนก็ออกมา
สำหรับงานกรมศุลไทยในไต้หวัน การได้เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย มันเริ่มจากการที่พี่ได้ไปแสดงบนเวทีในงานเทศกาลไทย ได้ไปซ้อมร้องเพลงกับข้าราชการไทย เขาเลยเสนอให้เราไปสมัครตำแหน่งที่เปิดรับสมัครอยู่ เราเลยไปและได้เริ่มทำงาน เราไม่ได้พอใจกับ job description แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราพอใจที่หัวหน้างานให้อิสระทางความคิดกับเราแบบเต็มที่ เราอยากทำอะไรก็สามารถเสนอเขาได้เลย มันทำให้ทักษะของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเราก็ไม่ได้ทำอยู่แค่ในขอบเขตหน้าที่ของเรา อะไรที่เราสามารถช่วยเขาได้เราก็ทำหมดเลย เช่น โลโก้ที่กรมศุลใช้ทุกวันนี้เราก็เป็นคนออกแบบ ระบบการสแกนเข้าทำงานเราก็เป็นคนทำให้
การทำงานร่วมกับคนไต้หวันเป็นอย่างไรบ้าง
การดีไซน์โชว์ให้ศิลปินในงานแฟนมีตติ้ง เราต้องพูดคุยกับฝั่งไต้หวันโดยตรง เราได้เรียนรู้ว่าคนไต้หวันจะมีความ traditional มาก เขาไม่ค่อยกล้าแหกจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ จะไม่เปลี่ยนสิ่งที่เคยทำมาก่อน เราเคยเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้พวกเขา เขาก็บอกว่าคนไต้หวันชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาบอกว่าคนชอบกัน มันคือตั้งแต่สมัยหลายปีมาแล้ว อันที่จริงปัจจุบันมันมีคนดูสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างงานแฟนมีตติ้งที่ออร์แกไนเซอร์ไต้หวันจัด เขาจะใช้แพตเทิร์นเดียวกันหมด ต่างกันแค่ตัวศิลปิน แต่สำหรับเราที่เป็นคนไทย เราว่าทุกอย่างมันสามารถเปลี่ยนได้ อะไรที่เคยเล่นไปแล้วเราจะไม่เล่นซ้ำ นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไต้หวันไม่อยากซื้อบัตรเข้ามาดูงาน เพราะคนดูเขารู้ว่าจะได้เห็นงานแบบเดิม ๆ เราเลยเห็นโอกาสตรงนี้ เราคิดว่าเราสามารถใช้จุดนี้มาปรับโดยการคิดนอกกรอบและทำอะไรใหม่ ๆ ได้ถ้าเราออกมาทำเอง
การเปิดบริษัทตัวเองที่ไต้หวัน
เราคิดจะเปิดบริษัทเองอยู่แล้ว เพราะเราไม่ชอบชีวิตที่ถึงเวลาเลิกงานก็กลับบ้าน แค่เข้างานตรงเวลา เลิกงานตรงเวลาก็พอ สำหรับเรา เราหวังว่าจะได้ทำงานเยอะ ๆ เราอยากทำงานเพื่อที่จะเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ นา ๆ และความจำเป็นที่เราต้องเปิดบริษัทแบบจริงจังคือเรื่องวีซ่า เราต้องทำงานอยู่ในบริษัทหรือต้องมีการลงทุนถึงจะอยู่ในไต้หวันได้ เราเลยต้องทำวีซ่าผู้ประกอบการ และอีกเรื่องหนึ่งคือ สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรเพื่อที่จะออกใบเสร็จในการทำเรื่องต่าง ๆ เพราะเราไม่สามารถออกใบเสร็จในนามส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ก็เป็นเพราะเราอยากจะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาให้คนจดจำ
ในส่วนของขั้นตอนการเปิด ถ้าคุณทำงานในบริษัทไต้หวันอยู่ แล้วอยากจะเปิดบริษัทไปพร้อม ๆ กัน ก็สามารถให้บริษัทช่วยเซ็นเอกสารให้ได้ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องขอวีซ่าผู้ประกอบการ การเปิดบริษัทก่อนแล้วค่อยขอวีซ่า กับขอวีซ่าก่อนแล้วค่อยเปิดบริษัทก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เรื่องวีซ่าผู้ประกอบการก็ขอได้หลากหลายทาง ง่ายที่สุดคือการมีบริษัทที่สามารถออกเอกสารให้ได้ อย่างตอนนี้ NTNU ก็มีหน่วยงานที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถออกหนังสือรับรองให้นักเรียนที่ต้องการเปิดสตาร์ทอัพให้ได้ฟรี ซึ่งสมัยเรายังไม่มี แต่ก็โชคดีที่ได้ลูกค้ากรมศุลที่ส่งเสริมด้านนี้ให้ความช่วยเหลือ
บริษัทพี่ตอนนี้ทำอะไรบ้าง และมีเป้าหมายอย่างไรในอนาคต
บริษัทพี่เป็นออร์แกไนเซอร์จัดงาน ดีไซน์งานแฟนมีตติ้งและคอนเสิร์ตให้ศิลปินไทยที่มาไต้หวัน คอยประสานงานให้ทั้งฝั่งทางศิลปินไทยและฝั่งนายทุนไต้หวัน เป้าหมายก็คืออยากทำให้คนไต้หวันไม่มีความคิดที่ว่าทุกงานมันเหมือนกัน เราอยากจะใส่ความครีเอทีฟเข้าไปในทุกงาน อยากให้คนดูรู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะซื้อบัตรเข้ามาดู ในอนาคตก็หวังว่าจะมีคนมารับช่วงแทนเรา แล้วเราก็จะไปดูด้านอื่นว่าเราสามารถทำอะไรได้อีก เราไม่ได้อยากจะไปสุดแค่ทางใดทางหนึ่ง ทุกวันนี้บริษัทยังมีแค่เราคนเดียว ในแต่ละงานเราก็จะจ้างคนเป็นงาน ๆไป เราเลยอยากจะฝึกทีมของตัวเองขึ้นมา และส่งต่อให้คนรุ่นหลังมาคุม หลังจากนั้นเราก็จะไปทำอย่างอื่นต่อ แต่จะเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีโอกาสแบบไหนเข้ามาในช่วงนั้น
คำแนะนำที่อยากจะบอกกับน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่
ถ้าน้อง ๆ เรียนภาษาอยู่ อยากจะบอกว่าภาษาอย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องมีทักษะอื่น ๆ ในการทำงานด้วย อีกอย่างคือความสำคัญของคอนเน็คชั่น ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตมันเป็นประโยชน์หมด อย่าไปคิดว่าเราไม่สนใจสิ่งนี้ แค่ทำตรงนี้เสร็จคือจบ ความจริงมันอาจจะต่อยอดไปสู่สิ่งที่เราสนใจได้ในอนาคต สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนภาษา ถ้าให้ดีก็เรียนภาษาด้วย เพราะมันสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในไต้หวัน และบริษัทไต้หวันก็พิจารณาคนที่ได้ภาษาจีนเป็นพิเศษ เราจะได้เปรียบมากถ้าพูดได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน จนถึงตอนนี้ พี่ไม่ผิดหวังเลยที่เลือกมาเรียนและมาอยู่ที่ไต้หวัน นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการตั้งแต่แรก จริง ๆ มันก็มีหลายอย่างที่ทำให้เราต้องฟันฝ่า มันจะไม่มีอุปสรรคเลยก็คงไม่ได้ แต่เราก็คิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือแย่ อย่างการเป็นล่ามในงานสัมมนาของพี่ ถึงเราจะทำได้ไม่ดี แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมันทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้